“เศรษฐกิจพอเพียง”  เป็นหลักปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า  และกำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง  ชนชาวไทยได้น้อมนำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม  ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ  เช่น  ทำไร่นาสวยผสม  ปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้  ปลูกผักปลอดสารพิษไว้รับประทานในครอบครัว  ใช้จ่ายอย่างประหยัด  จัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายในครัวเรือน    เพื่อให้เห็นปัญหาข้อบกพร่องในการใช้จ่าย  จะได้ตรวจสอบว่าสิ่งใดสมควรซื้อ  สิ่งใดไม่สมควรซื้อ  จะได้ลดค่าใช้จ่ายลง  เป็นต้น

                เมื่อกล่าวถึงคำว่า  “พอเพียง”  แล้ว  คงต้องกล่าวถึงคำว่า  “พอดี”  ควบคู่กันไป  เพราะ  ความพอดี  ก็คือความพอเพียง  เมื่อรู้จักพอ  ก็จะทำให้จิตใจเป็นสุข  ถ้าใจเป็นสุขก็จะไม่เบียดเบียนตนและคนอื่น  รู้จักให้ทาน    รู้จักแบ่งปัน  รู้จักเสียสละ  ช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่า  เหล่านี้คือ     ความพอดีพอเพียง  และในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  มีหลักปฏิบัติ  ที่ต้องคำนึงถึง  ประกอบด้วย  ๓  ห่วง  ๒  เงื่อนไข  กล่าวคือ  เน้นการปฏิบัติในทางสายกลาง  และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน  ๓ คุณลักษณะ  ได้แก่  ความพอประมาณ  ความมีเหตุมีผล  และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี  ส่วน  ๒  เงื่อนไขได้แก่  เงื่อนไขความรู้  และเงื่อนไขคุณธรรม

                การดำเนินชีวิตโดยใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  อย่างมีความสุขนั้น  ผู้ที่นำมาปฏิบัติให้เกิดเป็นผลจะต้องเป็นผู้มีความรอบรู้  รอบคอบ  ระมัดระวัง  ในการใช้วิชาความรู้ที่ตนมี  ควบคู่ไปกับคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต  ขยันอดทน  ใช้สติปัญญา  และรู้จักแบ่งปัน  รู้จักประมาณตน  มีเหตุ         มีผล  และมีความมุ่งมั่น  มีภูมิคุ้มกันที่ดี  จึงจะนำไปสู่ชีวิตที่มีความพอเพียง  อยู่ในสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล  มั่นคง  มั่งคั่ว  ยั่งยืน  และมีความเป็นสุข  ดังคำขวัญที่ว่า

 

                                                “เศรษฐกิจดี         สังคมมีวัฒนธรรม

                                ขยันหา  ขยันทำ                  รักพ่อต้อง  “พอเพียง”