จุดเปลี่ยนการศึกษาไทย คำตอบอยู่ที่...ห้องเรียน

          ในขณะที่ทั่วโลกกำลังพูดถึงการศึกษาศตวรรษที่ 21 ซึ่งว่าด้วยการปลูกฝังทักษะความรู้เพื่อเตรียมพร้อมให้เยาวชนสามารถรับมือกับความท้าทายอันเกิดมาจากความซับซ้อนของสังคมและปัญหาใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยพบมาก่อน ระบบการศึกษาไทยยังคงประสบกับวิกฤติที่แก้ไม่ตก การวัดประเมินผลทางการศึกษาด้วยมาตรวัดต่างๆ พบว่านักเรียนไทยมีผลสัมฤทธิ์การเรียนต่ำ อยู่ในระดับรั้งท้ายของการจัดอันดับนานาชาติ อีกทั้งยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปตามโลกาภิวัตน์

          ไม่ว่าจะจับไปที่จุดใดก็ดูเหมือนจะพบแต่ปัญหา ถ้าเช่นนั้นแล้วความหวังที่จะออกจากวังวนดังกล่าวมีหรือไม่ คืออะไร?

          ฟังคำตอบจาก ผศ.ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครูผู้ปฏิวัติชั้นเรียนคณิตศาสตร์แนวใหม่ โดยใช้แนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบปลายเปิด (Open Approach) จากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศแรกที่เปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอนไปสู่การให้ความสำคัญกับกระบวนการคิด และเชื่อว่าความถูกต้องไม่ได้อยู่ที่คำตอบแต่อยู่ที่การให้เหตุผล ประสบการณ์กว่า 30 ปีของอาจารย์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่ลดบทบาทการ “สอน” ของครู แต่เพิ่มการ “ถาม” เพื่อกระตุ้นให้เด็กรู้จักคิด สามารถเกิดขึ้นได้จริงในบริบทสังคมไทย เป็นที่ประจักษ์ในโรงเรียนนับร้อยแห่ง

โลกการเรียนการสอนกำลังเปลี่ยนไป แล้วไทยล่ะ?

960_01.jpg

          ญี่ปุ่นเป็นชาติแรกๆ ของโลกที่มองเห็นจุดอ่อนของการเรียนการสอนในชั้นเรียนที่เน้นเนื้อหาสาระวิชา และเริ่มเปลี่ยนแปลงไปสู่การสอนซึ่งเน้นที่กระบวนการคิดของนักเรียน เริ่มตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา เมื่อญี่ปุ่นจำเป็นต้องเร่งพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์เพื่อเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด หลักสูตรที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1950 ได้กำหนดเรื่องการสอนทักษะการคิดไว้อย่างชัดเจน ก่อนหน้าที่ทั่วโลกจะเกิดความตื่นตัวในประเด็นดังกล่าวเกือบ 50 ปี แม้แต่ในรายวิชาคณิตศาสตร์ซึ่งดูเหมือนศาสตร์ที่มีคำตอบถูกผิดไว้อย่างตายตัว ก็ยังสอนให้เด็กนักเรียนพัฒนากระบวนการคิดในเชิงตรรกะ (Mathematical Thinking) ไม่ใช่การสอนคำนวณเพื่อหาผลลัพธ์สุดท้าย

          การเรียนการสอนที่เน้นกระบวนการคิด หรือ “กระบวนทัศน์ใหม่ของการเรียนการสอนในห้องเรียน” เริ่มปรากฏให้เห็นจากฝั่งยุโรป ดังเช่นที่เนเธอร์แลนด์ ฮังการี จากนั้นจึงข้ามฝั่งมายังอเมริกา ส่วนสิงคโปร์เพิ่งเริ่มต้นปรับชั้นเรียนเมื่อหลังปี 2000 แต่ก็มีการพลิกโฉมก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันทั้งญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฟินแลนด์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน ฯลฯ ล้วนตกผลึกความรู้ด้านการจัดการเรียนการสอนแบบไม่เน้นการท่องจำ จนเกิดเป็นตำราและคู่มือครูที่มีคุณภาพและมาตรฐาน และกลายเป็นผู้นำด้านการศึกษาที่ทั่วโลกอยากดำเนินรอยตาม

          “ถ้าการศึกษาไทยยังไม่เปลี่ยน คนจะขาดความสามารถในการคิดเชิงแก้ไขปัญหา เอาผลมาเป็นเหตุเอาเหตุมาเป็นผล มั่วไปหมด ระบบการศึกษาของหลายประเทศทั่วโลกกำลังติดอยู่ในกับดักแบบเดียวกันนี้ แนวโน้มความเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงจึงมุ่งไปที่การสอนด้วยวิธีแก้ไขปัญหา (Problem Solving Approach) เพื่อให้นักเรียนมีทักษะการคิดและสามารถแก้ปัญหาด้วยตนเอง”

เปลี่ยน ‘วัฒนธรรมอำนาจ’ ในห้องเรียน

960_02.jpg

          ปัญหาคุณภาพการศึกษามักจะถูกเชื่อมโยงไปยังบทบาทและคุณภาพของครูผู้สอน แต่ทัศนะเช่นนี้กลับจะทำให้ครูตกเป็นจำเลยของสังคม ซึ่งไม่ใช่หนทางที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหา แน่นอนว่าจุดเปลี่ยนของปัญหานี้อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงในระดับห้องเรียน แต่จะต้องมองชั้นเรียนในฐานะที่เป็นชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community-PLC)

          “การแก้ไขปัญหาการศึกษา เราต้องปักหมุดไปที่โรงเรียน แต่ให้ครูทำงานฝ่ายเดียวไม่ได้ ผู้อำนวยการโรงเรียนจะต้องมานั่งหัวโต๊ะทุกสัปดาห์ด้วย เพื่อมาวางแผนการทำงานร่วมกับครู ให้ครูนำเสนอแผนการสอนเป็นรายคาบแล้วมาร่วมกันสะท้อนความเห็น (Reflection) ผู้อำนวยการโรงเรียนต้องทำหน้าที่ศึกษานิเทศก์ร่วมกับครูชำนาญการ ครูเชี่ยวชาญ ก่อนเปิดภาคเรียนก็ต้องร่วมกันวางแผน ครูห้ามทำงานคนเดียว ครู ป.1-ป.3 ต้องจัดเป็นทีมเดียวกัน ป.4-ป.6 อีกทีมหนึ่ง เพราะการทำงานคนเดียวทำให้เกิดนวัตกรรมไม่ได้

          “ทุกวันนี้ แต่ละโรงเรียนต่างคนก็ต่างอยู่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกัน ผู้อำนวยการก็วิ่งไปเขตไปนู่นไปนี่ ศึกษานิเทศก์ที่มีกว่าสี่พันคนก็มักจะอยู่ตามเขตคอยทำงานส่งกระทรวง เขาไม่ค่อยลงไปโรงเรียนอยู่แล้ว ครูจึงยังไม่มีวิธีการสอนที่ดีและไม่มีกระบวนการปรับปรุงการทำงาน”

          นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของครู ให้มีการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องแล้ว วัฒนธรรมเชิงอำนาจระหว่างครูกับศิษย์ก็ต้องเปลี่ยนแปลง

          “ห้องเรียนไทยไม่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน เวลาครูโยนคำถามแล้วนักเรียนแสดงความคิดเห็นกลับมา ครูบางคนบอกว่ารับไม่ได้ ความคิดแบบนั้นผิด เขาจะผิดได้ยังไงล่ะเพราะเขายังไม่ได้ให้เหตุผลเลย ถ้าอย่างนั้นแปลว่าความคิดของทุกคนควรจะถูก เพราะมันคือการยอมรับความมีเหตุผลของเขา ซึ่งเท่ากับยอมรับความเป็นคน ถ้าคุณปฏิเสธความคิดของเขาก็แปลว่าคุณปฏิเสธความเป็นคนของเขาด้วย”

          ห้องเรียนที่ดีจึงเป็นพื้นที่ที่นักเรียนได้พูด ได้แสดงความคิดเห็น และมีโอกาสทำงานเป็นกลุ่ม เพื่อแก้ไขปัญหาที่ตั้งขึ้นมาเป็นโจทย์ ชั้นเรียนที่ครูเป็นผู้กุมบทบาทในการพูดมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของคาบเรียนไม่มีวันนำนักเรียนไปสู่การแก้ปัญหา ครูจึงต้องรู้จัก “เอาเทปปิดปากตัวเองไว้” เปลี่ยนบทบาทเป็นผู้สังเกตห้องเรียน แล้วคอยจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

จุดอ่อนของการบริหารการศึกษาแบบรวมศูนย์

960_04.jpg

          ระบบการบริหารแบบราชการที่ครอบงำโรงเรียนอยู่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารการศึกษา การที่ส่วนกลางไม่ได้กระจายอำนาจการบริหารที่แท้จริงลงไปยังพื้นที่นับเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษา ซึ่งหากเปรียบเทียบกับหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษาจะพบว่าไม่ได้เป็นระบบแบบรวมศูนย์

          “เรามีความพยายามในการวางรากฐานด้านการศึกษามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และนับแต่นั้นมาโรงเรียนของเราไม่เคยเปลี่ยน เพราะเราฝึกโรงเรียนให้เป็นระบบราชการ กลไกที่บริหารจัดการก็เป็นระบบราชการ และเป้าหมายก็เป็นไปเพื่อราชการ มันจึงมีปัญหา ที่ญี่ปุ่นใครก็สั่งให้ครูออกไปทำงานอย่างอื่นนอกโรงเรียนไม่ได้ แต่ของเราผู้อำนวยการสั่งงดการเรียนการสอนเพื่อไปทำงานอย่างอื่นนอกโรงเรียนได้ และส่วนกลางก็สามารถดึงครูออกจากห้องเรียนไปอบรมอะไรต่อมิอะไรได้เต็มไปหมด”

          นอกจากนั้น นโยบายการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายของฝ่ายการเมือง ทำให้การพัฒนาการศึกษาไทยขาดทั้งทิศทางที่ชัดเจนและความต่อเนื่องในระดับปฏิบัติ ดังนั้น จึงควรมีการบัญญัติกฎหมายควบคุมดังเช่นที่เกาหลีใต้กำหนดไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรแกนกลางภายใน 7 ปี ญี่ปุ่นกำหนดมิให้เปลี่ยนแปลงไว้ถึง 10 ปี ทั้งนี้เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการปรับใช้กับหลักสูตรสถานศึกษาและหลักสูตรระดับผู้เรียน ก็จะทำให้เกิดความต่อเนื่องและสามารถวัดประเมินผลได้จริง

สถาบันผลิตครู แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

960_05.jpg

          ปัจจุบัน ประเทศไทยมีคณะครุศาสตร์และคณะศึกษาศาสตร์ที่ขึ้นทะเบียนกับคุรุสภาประมาณ 80 แห่ง เมื่อนับรวมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเข้าไปด้วยจะมีสถาบันผลิตบุคลากรทางการศึกษาประมาณ 150 แห่ง คิดเป็นจำนวนครูที่ป้อนเข้าสู่ระบบถึงปีละกว่า 50,000 คน หากสถาบันผลิตครูเอาจริงเอาจังด้านคุณภาพและมาตรฐาน และปลูกฝังกระบวนทัศน์ใหม่ทางการศึกษาให้กับบัณฑิต แน่นอนว่าจะเป็นความหวังในการแก้ไขปัญหาการศึกษาไทยได้

          “คณะครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ทั้งประเทศไม่ได้ตระหนักตรงนี้ หลักสูตรฝึกหัดครูไม่ได้ให้เครื่องมือที่จำเป็นและยังเน้นการสอนเนื้อหาอยู่เหมือนเดิม ...ผมไม่เห็นด้วยเรื่องเรียนจบหลักสูตร 5 ปีแล้วทุกคนสามารถได้ใบประกอบวิชาชีพครูทันที ทั้งๆ ที่ทั่วโลกการได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพไม่ได้เกี่ยวกับหลักสูตรเลย แต่ทุกคนต้องผ่านกระบวนการสอบเพื่อวัดคุณภาพอีกครั้ง คนที่จบสาขาอื่นแล้วอยากมาเป็นครูก็มีสิทธิรับการอบรมและสอบเป็นครูได้ บางประเทศในบางสาขาวิชาเขาถึงกับกำหนดว่าถ้าบัณฑิตสอบใบประกอบวิชาชีพได้ไม่ถึง 25% สถาบันนั้นจะต้องถูกยุบ แต่วิชาชีพครูของบ้านเราบางมหาวิทยาลัยอาจสอบไม่ได้เลย แต่ก็ยังอยู่ในสนามได้ เพราะคุณเปิดหลักสูตร 5 ปี เรียกว่ามีคนมาเดินเข้าออกให้ครบ 5 ปีแล้วก็แจกตั๋วไปคนละใบ เพราะฉะนั้นการให้ใบประกอบวิชาชีพครูของไทยจึงไม่ make sense”

          ข้อเสนอต่อประเด็นนี้คือ สถาบันผลิตครูควรจะเข้าไปมีส่วนช่วยพัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียน นั่นคือให้สถาบันอุดมศึกษาวางแผนการผลิตครูร่วมกับจังหวัด เพื่อให้จำนวนครูแต่ละสาขาสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ และนำเอากระบวนทัศน์ใหม่เข้าไปใช้กับการเรียนการสอนในห้องเรียน พร้อมกันนั้นก็ต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรฝึกหัดครูจากเดิมซึ่งการเรียน 4 ปีแรกไม่ได้เน้นภาคปฏิบัติ ให้มีโอกาสร่วมปฏิบัติงานจริงกับครูในโรงเรียนตั้งแต่เข้าศึกษาชั้นปีที่ 1

          “ถ้าระดมกำลังของสถาบันผลิตครูที่มีอยู่ลงไปที่ชั้นเรียนได้หมด การศึกษาของเราจะไปได้เร็วกว่าประเทศรอบๆ ข้าง ทั้งประเทศเรามีโรงเรียนประมาณสามหมื่นโรง เฉลี่ยแล้วให้แต่ละสถาบันฯ ไปดูแลรับผิดชอบแห่งละ 200 โรง ทำไมจะทำไม่ได้ ผมเชื่อว่าแค่ 5 ปีก็เห็นหน้าเห็นหลังแล้ว เรามีคนที่สามารถเข้าไปช่วยมากมายแต่เราพัฒนาไม่เป็น... ถามว่าท้อไหมที่ไม่ค่อยเห็นการศึกษาไทยเปลี่ยนแปลง ผมไม่ท้อเพราะรู้ว่าเราทำไม่ถูกทางเฉยๆ แต่ถ้าทำถูกทาง ทุกอย่างจะเปลี่ยน”

Share this: