"เพราะเด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่ตัวเล็ก" การดูแลเด็กในสภาวะที่มีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 อยู่ทั่วโลกนี้ ย่อมต้องมีความละเอียดอ่อน อดทน ใส่ใจ มากกว่าในวัยอื่น ๆ ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจสามารถปรับตัวเข้ากับการจำกัดบริเวณอยู่ในบ้านได้บ้างแล้ว แต่ในหลายครอบครัวยังคงมีความเครียด วิตกกังวล เนื่องจากในครอบครัวท่านมีสมาชิกต่างวัยอาศัยอยู่ร่วมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครอบครัวที่มีลูกน้อย หรือ เด็กก่อนวัยเรียน ย่อมต้องใส่ใจเป็นกรณีพิเศษ ถึงแม้รายงานการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเด็กยังมีไม่มากและไม่รุนแรง แต่ ไม่ได้หมายความว่า เด็ก ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ในทางกลับกัน หากบุตรหลานของท่านได้รับเชื้อแล้วติดต่อไปยัง ปู่ ยา ตา ยาย หรือ อากง อาม่า ในบ้าน เมื่อท่านเหล่านั้นได้รับเชื้อ อาจมีอาการรุนแรงจนเสียชีวิตได้ เราขอแนะนำแนวทางเบื้องต้นในการดูแลลูกน้อยให้ปลอดภัย ห่างไกลจาก โควิด-19 ดังต่อไปนี้ 1. เด็กมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 จากใครได้บ้าง โดยปกติแล้วเด็ก ๆ มีความเสี่ยงสูงในการได้รับเชื้อโรคจากโรงเรียน สถานที่เรียนพิเศษ หรือ สถานรับเลี้ยงเด็ก เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น สถานที่ใดมีเด็กรวมตัวกันมากย่อมต้องปิดทำการเป็นอันดับแรก แต่เมื่อเด็ก ๆ ต้องกักตัวอยู่กับบ้าน สาเหตุหลักของการติดเชื้อคือ จากผู้คนที่เดินทาง เข้า-ออก จากบ้านไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม และเมื่อต้องกักตัวอยู่บ้าน เด็ก ๆ ต้องอาศัยอยู่บ้านของตนเอง ไม่เดินทางไปมาระหว่างบ้านญาติหรือบ้านเพื่อนสนิท 2. เราจะสอนลูกเรื่องการดูแลความสะอาดได้อย่างไร สำหรับลูกน้อยวัย 1.5 - 2 ปี คุณพ่อคุณแม่ สามารถสอนให้ลูกน้อย ไม่นำสิ่งของเข้าปากหรือล้างมืออย่างง่ายได้ เพราะเด็กเริ่มเรียนรู้พฤติกรรมจากคนรอบข้างได้แต่อาจปฏิบัติตามได้ไม่ดีเท่าที่ควร พ่อแม่ควรดูแลอย่างใกล้ชิด สำหรับเด็กวัย 3 ปีขึ้นไป ควรสอนให้รักษาความสะอาด เช่น ฝึกให้ล้างมือประกอบการร้องเพลง เช่นเพลงช้าง หรือ เพลง happy birthday จนครบสองรอบประมาณ 20 วินาที จะได้ระยะเวลาที่เหมาะสมในการฆ่าเชื้อที่มือพอดี ส่วนในเด็กโตให้คอยกำชับเรื่องความสะอาดตามสมควร 3. จัดสรรเวลาให้ลูกอย่างไรให้เหมาะสมกับช่วงวัยและพัฒนาการ ผู้ปกครองอาจแบ่งเวลาในการทำกิจกรรมร่วมกับลูกตามช่วงวัยดังนี้ กิจกรรมสำหรับทารกหรือเด็กเล็ก เช่น เลียนแบบการแสดงออกทางสีหน้า น้ำเสียง ร้องเพลง ใช้ช้อนเคาะจังหวะ เล่าเรื่องราวนิทานหรือให้ดูรูปภาพ หรือ เล่นโมบายแขวน กิจกรรมสำหรับเด็กโต เช่น อ่านหนังสือนิทานให้ฟัง พาเดินเล่นในบริเวณบ้าน เต้นรำ ร้องเพลง เล่นบทบาทสมมติ ทำงานบ้าน หรือ ทำอาหารด้วยกัน กิจกรรมสำหรับเด็กวัยรุ่น พูดคุยในสิ่งที่ลูก ๆ ชอบ เช่น กีฬา ดนตรี ดารา เพื่อนฝูง ออกกำลังกายด้วยกัน เล่นเกมส์ หรือชมภาพยนต์ร่วมกัน โดยให้อิสระแก่ลูกในการเลือกกิจกรรมต่าง ๆ ตามความชอบและความถนัด 4. เราจะป้องกันการนำเชื้อจากนอกบ้านมาสู่ลูกได้อย่างไร งดนำบุคคลภายนอกหรือญาติพี่น้องเข้าพบเด็ก ๆ ในบ้าน หากคนในบ้านมีความจำเป็นต้องไปทำธุระนอกบ้าน ไปทำงาน หรือ ภารกิจใด ๆ ก็ตามควรเลี่ยงการเดินทางไปในสถานที่มีความเสี่ยงสูง เช่น โรงพยาบาลหรือสถานที่อากาศไม่ถ่ายเท เมื่อเสร็จภารกิจแล้ว ให้ท่านปฏิบัติตน เหมือนว่าท่านได้สัมผัสเชื้อโควิด-19 แล้ว เมื่อกลับบ้านให้รีบล้างมือ เปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อแยกซักจากเสื้อผ้าเด็กและอาบน้ำทันที แยกชาม ช้อน แก้วน้ำ ของใช้อื่น ๆ โดยไม่ใช้ร่วมกับเด็ก ถ้าเป็นไปได้ควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องสัมผัสกับคนในครอบครัว 5. คุณแม่สามารถให้นมลูกขณะที่สงสัยว่าเป็นโรคโควิด-19 ได้หรือไม่ คุณแม่ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่การระบาด เมื่อมีอาการไอ จาม หรือ มีไข้ และสงสัยว่าตนเองติดเชื้อ โควิด-19 ควรโทรปรึกษากรมควบคุมโรค สายด่วน 1422 งดการเดินทางไปโรงพยาบาลในช่วงนี้ ในระหว่างการรอตรวจคัดกรองโรค แม่ยังคงสามารถให้นมลูกต่อได้ เนื่องจากน้ำนมแม่ไม่ได้เป็นแหล่งในการแพร่เชื้อไวรัสทางเดินหายใจชนิดใด ๆ รวมทั้งโควิด-19 โดยขณะให้นมต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือก่อนและหลังการสัมผัสลูก ทำความสะอาดฆ่าเชื้อพื้นผิว และควรปั้มเก็บน้ำนมสำรองไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะหากได้รับการตรวจยืนยันว่าเป็นผู้ติดเชื้อ แม่จะต้องแยกตัวจากลูกเพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 6. ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด-19 ลูกในครรภ์จะปลอดภัยหรือไม่ เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 จากแม่สู่ลูกหรือส่งผลกระทบต่อลูกในครรภ์ สตรีมีครรภ์จึงควรปฏิบัติตามข้อควรระวังต่าง ๆ อย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการได้รับเชื้อไวรัส และสังเกตตัวเองอยู่เสมอ หากพบอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ไอ หายใจลำบาก ควรปรึกษาแพทย์ผู้รับฝากครรภ์ทางโทรศัพท์ ซึ่งถ้าหากคุณแม่ตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว จะมีความยากในการรักษาอย่างที่สุด เนื่องจาก ยาต้านไวรัสหรือยาอีกหลาย ๆ ชนิด มีผลเสียต่อทารกในครรภ์และไม่สามารถใช้ยาเหล่านี้เหมือนคนปกติได้ 7. เราจะฝากเด็ก ๆ ให้ ปู่ ยา ตา ยาย อากง อาม่า เลี้ยงแทนช่วงนี้ได้หรือไม่ ในช่วงโรคระบาดนี้ถ้าหากเด็กอาศัยอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุภายในบ้าน หากเป็นไปได้อาจลดการสัมผัสกันแยกบริเวณพักอาศัย แต่ถ้าผู้สูงอายุเหล่านี้อยู่ต่างบ้านกัน ให้งดเว้นการพบปะพูดคุยหรือไปมาหาสู่กันจนกว่าสถานการณ์การระบาดลดลงหรือควบคุมได้ เพราะเด็กเล็กอาจติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการและเมื่อนำเชื้อไปติดผู้สูงอายุท่านเหล่านั้นจะมีอาการทรุดหนักและอาจเสียชีวิตในเวลารวดเร็ว หากท่านมีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง 8. เมื่อเด็กอยู่บ้านเป็นเวลานานควรใส่ใจสิ่งใดเป็นพิเศษ ในสถานการณ์ปกติเด็ก ๆ จะใช้เวลาไปกับที่โรงเรียน สถานที่เรียนพิเศษ หากต้องอยู่บ้านเป็นระยะเวลานานแล้ว ผู้ปกครองอาจต้องวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดต่อเด็ก ๆ เช่น อันตรายจากไฟฟ้าดูด ของหนักหล่นทับจากการปีนป่าย วัตถุไวไฟ ของมีคมทุกชนิด เพราะเด็กจะมีเวลาเหลือมากเพื่อเล่นซน ค้นหาของทุกชนิดที่อยู่ในบ้าน จึงไม่ควรทิ้งเด็กไว้ตามลำพังเป็นระยะเวลานานและควรติดตามพฤติกรรมของเด็ก ๆ อยู่เสมอ 9. หากสมาชิกในบ้านยังต้องทำงานในสถานที่เสี่ยงการติดเชื้อควรทำอย่างไร แพทย์ พยาบาล เภสัชกรและสหวิชาชีพทางด้านสาธารณสุข ท่านเหล่านี้เป็นทัพหน้าที่เสียสละตัวเองโดยไม่เดินทางกลับบ้านในช่วงโรคระบาด แต่ถ้าท่านเป็นพนักงานอื่น ๆ ที่ทำงานในโรงพยาบาล เช่น เจ้าหน้าที่การเงิน ธุรการ พนักงานขับรถ เวรเปล หรือ หน้าที่ใด ๆ ก็ตาม ให้ปฏิบัติเหมือนท่านสัมผัสเชื้อโควิด-19 ถ้าจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในบ้านกับเด็ก ๆ ควรแยกห้องในทุกกิจกรรมและสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเด็ก ๆ หากไม่จำเป็น หากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ท่านสามารถบรรเทาความเครียดของเด็ก ๆ โดยพานั่งรถออกจากบ้าน ขับพาชมวิวทิวทัศน์ข้างทางโดยไม่ต้องลงจากรถ แค่เพียงเท่านี้ เด็ก ๆ ของท่านจะมีความสุขมากขึ้น ในช่วงกักตัวนี้
.
.
.
.